top of page

ทรัพยากรท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์

1. วัดโพธิ์

วัดโพธิ์ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง ตั้งอยูที่ 109 ถนนกงพะเนียง หมูที่ 7 ตําบลเขมราฐ อําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดโพธิ์ตั้งเมื่อ พ.ศ.2331 เดิมวัดตั้งอยูที่ทําการศุลกากร และสถานีอนามัย ในปัจจุบัน ชาวบ้านได้พบพระพุทธรูปในกลางป่า มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้วย จึงย้ายวัดมาตั้งอยูในพื้นที่ปัจจุบัน และตั้งชื่อว่าวัดโพธิ์ ด้านหน้าทางเข้าของวัดโพธิ์ นักท่องเที่ยวจะได้พบกับพระพุทธเขมรัฐวรมงคล เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะแบบผสมผสานของพระพุทธรูปองค์ต่างๆ เช่น พระเจ้าใหญ่องค์แสน พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธโสธร และพระพุทธสิหิงส์ สร้างด้วยปูนปั้นโครงเหล็ก ได้วางฤกษ์สร้างแท่นประดิษฐานเมื่อวันศุกร์ ที่ 5 มีนาคม 2547 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม สร้างโดย พระครูวรกิจโกวิท เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระราชินีในรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงได้เจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ถือว่าเป็นพระคู่บ้านเมืองของคนเขมราฐ นั่นคือ พระเจ้าใหญ่องค์แสน ซื่งเชื่อกันว่าถูกสร้างก่อนพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ที่วัดปาก-แซง โดยพระเจ้าใหญ่องค์แสน พระเจ้าใหญ่ตื้อ และพระเจ้าใหญ่องค์หมื่น คนในชุมชนเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปพี่น้องกัน ซึ่งแต่ละองค์ประดิษฐาน ณ ที่ต่างกัน มีเพียงพระเจ้าใหญ่องค์แสน ที่ประดิษฐานวัดโพธิ์แห่งนี้ ซึ่งผู้ใดที่มากราบไหว้ ขอพร จะประสบการณ์ความสำเร็จตามคำขอ ภายในบริเวณวัดฝั่งติดแม่น้ำโขง ยังมีศาลเจ้าพ่อพญานาคให้ผู้มาเยือนได้แวะมากราบไหว้อีกด้วย 

2. วัดชัยภูมิการาม

วัดชัยภูมิการาม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกลาง เป็นวัดที่เก่าแก่ และเป็นที่เคารพของชาวบ้านในเมืองเขมราฐอีกหนึ่งแห่ง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2317 ด้วยอาณาเขตของพื้นที่ที่เป็นเมืองหน้าด่าน จึงมีการตั้งชื่อวัดขึ้นว่า วัดชัยภูมิ อาจารย์พิบูล ใจแก้ว อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเหนือ ได้ให้ข้อมูลว่า การสร้างวัดสันนิษฐานว่ารับเอาวัฒนธรรมพุทธศาสนามาจากเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ช่วงเวลาการสร้างวัดเป็นช่วงการครองราชย์ของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมาธิราชแห่งลาวราชอาณาจักรล้านช้าง ตรงกับไทยในสมัยพระเจ้าประสาททอง พระเทพราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2180-2237 นับได้ว่าวัดกลางเป็นวัดที่เก่าแก่ ก่อนที่เมืองจะยกฐานะเป็นเมืองเขมราษฎร์ธานี ต่อมาได้รับการบูรณะอุปถัมภ์ท่านเจ้าเมืองเจ้าคณะเมืองและเจ้าแขวงเจ้าคณะอำเภอ และได้เข้าเฝ้าในรัชกาลที่ 3 ที่กรุงเทพ จึงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าตั้งชื่อว่า วัดชัยภูมิการาม โดยสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดมีอุโบสถสิมแบบมหาอุตที่มีบันไดนาคสวยงามแปลกตา เป็นที่ประดิษฐานของพระสิทธิมงคล พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ศิลปะล้านช้าง และภายในศาลาโรงธรรมมีภาพเขียนสีจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสาน เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ

3. ศูนย์การเรียนรู้บ้านขุนภูรีประศาสน์

บ้านขุนภูรีประศาสน์ เป็นบ้านไม้เก่าของขุนภูรีประศาสน์ที่ทายาทได้มอบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งภายในจะจัดแสดงเครื่องใช้ของท่านขุนภูรีประศาสน์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องครัว ผ้าไหม ภาพถ่ายของขุนภูรีประศาสน์ จักรเย็บผ้า เป็นต้น โดยศูนย์การเรียนรู้จะเปิดในช่วงเย็นของทุกวันเสาร์เพื่อให้ผู้มาเยือนได้เข้าชมวิถีชีวิตของคนเขมราฐในอดีต

bottom of page